ประกันอัคคีภัยมีบทบาทสำคัญในการช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น หากเกิดเหตุไม่คาดฝันอย่างการเกิดไฟไหม้บ้าน แทนที่เราจะต้องมารับความเสี่ยงไว้เอง ก็โอนความเสี่ยงภัยไปให้กับประกันภัยแทน แต่ก่อนที่จะทำประกันไฟไหม้บ้าน หรือประกันอัคคีภัยบ้านมี 4 ข้อที่คุณควรรู้
- ทำประกันไฟไหม้บ้านหรือประกันอัคคีภัยให้ครอบคลุมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน ทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ประกันไฟไหม้บ้าน ควรทำให้ครอบคลุมมูลค่าบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน แต่ไม่ควรทำประกันเกินมูลค่าบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน เพราะหลักการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จะจ่ายให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้ทำประกันไว้ สมมติว่า ซื้อบ้านพร้อมที่ดิน มูลค่า 2,000,000 บาท แบ่งเป็นที่ดิน 1,000,000 บาท และบ้าน 1,000,000 บาท
ดังนั้น ทุนประกันอัคคีภัยที่ครอบคลุมมูลค่าบ้าน เท่ากับ 1,000,000 บาท แต่ความคุ้มครองนี้ยังไม่ครอบคลุมกับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน หากเกิดความเสียหายเฉพาะเฟอร์นิเจอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ซึ่งผู้เอาประกันสามารถแจ้งให้คุ้มครองเพิ่มในส่วนของเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น
– ทุนประกันบ้าน 1,000,000 บาท
– ทุนประกันเฟอร์นิเจอร์ 500,000 บาท
– รวม 1,500,000 บาท
บางกรณีผู้เอาประกันภัยมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คิดว่าบริษัทประกันภัยรับประกันด้วยทุนประกันที่ต่ำกว่าความเป็นจริง จึงได้ไปทำประกันอัคคีภัยกับบริษัทอื่นเพิ่มอีก 1 แห่ง รวมเป็น 2 แห่ง
จากตัวอย่างเดิม ผู้เอาประกันได้ทำประกันกับบริษัท A ทุนประกัน 1,000,000 บาท และได้ไปทำประกันกับบริษัท B เพิ่มอีก 1,000,000 บาท มีทุนประกันรวม 2,000,000 บาท
หากเกิดอัคคีภัยประเมินความเสียหายได้ 800,000 บาท กรณีนี้บริษัท A และบริษัท B จ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมกันไม่เกิน 800,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บริษัทละ 800,000 บาท อีกทั้ง ทำให้ผู้เอาประกันอัคคีภัยเสียเบี้ยประกันภัยโดยเปล่าประโยชน์
- ไม่ควรทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เป็นข้อยกเว้นเฉพาะประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยเท่านั้น จากตัวอย่างข้างต้น หากผู้เอาประกันไม่ประสงค์ทำเต็มมูลค่าทรัพย์สิน แต่ควรทำทุนประกันไม่ต่ำกว่า 700,000 บาท หรือ 70% ตามหลักเกณฑ์การประกันอัคคีภัย เพราะหากเกิดอัคคีภัยเสียหายทั้งหมด ประกันไฟไหม้บ้านจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามทุนประกันที่ได้ทำไว้คือ 700,000 บาท
แต่หากผู้เอาประกันทำประกันอัคคีภัยทุนประกันต่ำกว่า 70% ของมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ต้องการทุนประกันเพียง 600,000 บาท คิดเป็น 60% ต่อมาเกิดอัคคีภัยเสียหายบางส่วน ประเมินความเสียหาย 300,000 บาท ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพียง 180,000 บาท (300,000 X 60%) ตามหลักเกณฑ์ถือว่าผู้เอาประกันภัยรับความเสี่ยงบางส่วนไว้เอง
- ซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม ถ้าผู้เอาประกันภัยพิจารณาแล้วว่าความคุ้มครองปกติที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ความคุ้มครองที่มักจะซื้อเพิ่มเติม ได้แก่ ภัยโจรกรรม ภัยน้ำท่วม เป็นต้น
การซื้อความคุ้มครองเพิ่มจากประกันอัคคีภัยบ้าน สิ่งที่ตามมาก็คือมีค่าเบี้ยประกันส่วนเพิ่มนั่นเอง ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องการซื้อความคุ้มครองจากภัยน้ำท่วมเพิ่มเติม แต่พื้นที่นั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ บริษัทประกันอาจพิจารณาไม่รับประกันภัยส่วนเพิ่มนี้ได้ หรือถ้ารับประกันอาจพิจารณาเพิ่มเบี้ยประกันในอัตราที่สูงกว่าปกติได้
สำหรับภัยที่ซื้อเพิ่มเติมได้ เช่น ภัยลมพายุ ภัยจากลูกเห็บ ภัยจากควัน ภัยจากแผ่นดินไหว ภัยจลาจลและนัดหยุดงาน ภัยเนื่องจากป่าเถื่อนและการกระทำด้วยเจตนาร้าย ภัยระอุ ภัยระอุมีการลุกไหม้/ระเบิด ภัยต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า
4. เลือกระยะเวลาคุ้มครองยาว แนะนำให้ผู้เอาประกันภัยทำประกันอัคคีภัยระยะเวลา 3 ปี เพื่อที่จะได้รับประโยขน์จากอัตราค่าเบี้ยประกันที่ลดลง ผู้เอาประกันเลือกทำประกันอัคคีภัยระยะเวลา 1 ปี เสียค่าเบี้ยประกันปีละ 1,100 บาท หากทำแบบต่ออายุปีต่อปี เมื่อระยะเวลาผ่านไป 3 ปี เสียค่าเบี้ยประกัน 3,300 บาท แต่ถ้าตัดสินใจเลือกระยะเวลาคุ้มครอง 3 ปี (ทำระยะยาว) เสียค่าเบี้ยประกัน 2,750 บาท เท่ากับประหยัดได้ 550 บาทต่อ 3 ปี หรือเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 183 บาท คิดเป็น 16.7% ต่อปี แต่หากผู้เอาประกันภัยพิจารณาแล้วเห็นว่าการเลือกระยะเวลาคุ้มครองยาวเป็นภาระทางการเงินมากเกินไป ก็อาจพิจารณาเลือกทำประกันภัยระยะเวลา 1 ปีแทนได้ https://www.tipinsure.com/Fire/fire_step_1/tip_home