การทำรีแพร์ หรือเย็บซ่อม ‘ทำสาว’ ที่ทางการแพทย์เรียกว่า Colporrhaphy นั้น คือการผ่าตัดแก้ไขช่องคลอดหย่อน โดยการตัดเนื้อช่องคลอดส่วนเกินออก และเย็บกล้ามเนื้อให้กระชับค่ะ
แต่เดิมการทำรีแพร์นั้น ทางการแพทย์มักใช้แก้ไขช่องคลอดหย่อนที่มีอวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนออกมา ที่ทำให้เกิดอาการปวดถ่วงท้องน้อย ปวดหลัง ปัสสาวะเล็ด ท้องผูก ซึ่งมักจะเกิดในผู้หญิงที่มีลูกมาก คลอดลูกทางช่องคลอดหลายครั้ง คลอดยาก เบ่งคลอดนาน ไปจนผู้หญิงที่ยกของหนักค่ะ
แต่ในปัจจุบันนี้การทำรีแพร์ได้รับความนิยมมากขึ้น มีผู้หญิงทั้งที่เคยคลอดเองทางช่องคลอด ผู้หญิงที่ไม่เคยคลอด หรือเคยคลอดโดยการผ่าตัดคลอด แต่รู้สึกว่าบริเวณนั้นไม่กระชับ จึงมาขอทำรีแพร์ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจไม่จำเป็น
ในปัจจุบันการทำรีแพร์ถือเป็นศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยอย่างหนึ่ง ทั้งยังได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากผู้หญิงเองก็มีลูกน้อยคน และเกือบครึ่งคลอดโดยการผ่าตัด และยังมีเครื่องทุ่นแรงไม่ต้องยกของหนักหรือทำงานหนักดังสมัยก่อน
นอกจากนี้ ทุกวันนี้ยังมีการทำรีแพร์โดยไม่ต้องทำศัลยกรรม (Non Surgical Repair) แบบเสี่ยง ที่แม้ FDA หรือวงการแพทย์ทั่วไปก็ไม่รับรอง ทั้งเตือนว่าอาจจะเกิดอันตราย แต่ก็มีให้เห็นในสถานความงามต่างๆ ตั้งแต่
- การใช้ยาเหน็บ น้ำยาสวนล้าง ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนประกอบสารเคมีที่เป็นด่างหรือสารส้ม ลดน้ำหล่อลื่น ทำให้ช่องคลอดของคุณผู้หญิงฝืดคับขึ้น ข้อเสียคือ อาจเกิดความระคายเคือง เกิดอักเสบติดเชื้อ เกิดแผลเมื่อเล่นจ้ำจี้
- ฉีดสารเติมเต็มช่องคลอด (Vaginal Filler) ฉีดไขมัน ฉีดเลือด ฉีดน้ำเหลือง ทำให้ช่องคลอดหนาขึ้น จึงดูเหมือนกระชับขึ้นแต่เป็นเพียงชั่วคราว มีราคาแพง ทั้งยังเสี่ยงต่อการอักเสบ ติดเชื้อ และการแพ้
- ใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency) หรือใช้เลเซอร์ ให้ความร้อนเยื่อบุช่องคลอด โดยเชื่อว่าทำให้เพิ่มคอลลาเจน จึงดูเหมือนกระชับขึ้น แต่เป็นเพียงชั่วคราว ทั้งมีราคาแพง เสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อและการแพ้สารเช่นกัน
สรุปคือ การมีช่องคลอดกระชับนั้นขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อและเยื่อบุช่องคลอด อยากมีกล้ามเนื้อแข็งแรง ก็ควรหมั่นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานด้วยการขมิบช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอนั่นเองค่ะ วิธีนี้ปลอดภัย ทั้งยังทำให้เยื่อบุช่องคลอดแข็งแรง มีสุขภาพอนามัยดี ไม่มีการอักเสบติดเชื้อ ดังนั้นเอาเป็นว่าหากช่องคลอดไม่หย่อนจนถึงขั้นกะบังลมหย่อน การทำรีแพร์อาจจะไม่จำเป็น เพราะทำให้เสียเงินทอง เสียเวลา ทั้งยังอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีด้วย https://www.theklinique.com/mini-repair/